วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ทรัพยากรสารสนเทศ

ทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึง สื่อหรือวัสดุที่ใช้เก็บบันทึกสารสนเทศ เราใช้วัสดุหลายรูปแบบในการบันทึก ทั้งนี้เนื่องจากสารสนเทศมีทั้งตัวอักษร ข้อความ รูปภาพ และเสียง ซึ่งอาจจัดกลุ่มทรัพยากรสารสนเทศได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. วัสดุตีพิมพ์ (printed materials)
2. วัสดุไม่ตีพิมพ์ (non-printed material)
3. ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (electronic database)

วัสดุไม่ตีพิมพ์

วัสดุไม่ตีพิมพ์
วัสดุไม่ตีพิมพ์ หมายถึง ทรัพยากรสารสนเทศที่บันทึกไว้ในสื่อที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตีพิมพ์ มีหลายประเภทดังนี้ (ศรีสุภา นาคธน, 2548)
1. ต้นฉบับตัวเขียนต้นฉบับตัวเขียน (manuscript) คือ ทรัพยากรสารสนเทศที่จัดทำขึ้น โดยใช้ลายมือเขียน ได้แก่ หนังสือที่จัดทำในสมัยโบราณก่อนที่จะมีการพิมพ์ โดยการใช้จาร หรือสลักลงบนวัสดุต่าง ๆ เช่น สมุดข่อย ใบลาน แผ่นปาปิรัส (papyrus) แผ่นดินเหนียว แผ่นหนังสัตว์ ศิลาจารึก เป็นต้น ตัวอย่างต้นฉบับตัวเขียน
2. โสตวัสดุโสตวัสดุ (audio materials) คือ วัสดุสารสนเทศที่ใช้เสียงเป็นสื่อในการถ่ายทอดสารสนเทศ เช่น
2.1 แผ่นเสียง (phonodiscs) วัสดุทำด้วยครั่ง หรือพลาสติก ทรงกลม ใช้เทคนิคที่ทำให้เกิดร่องเล็ก ๆ บนพื้นผิวอย่างต่อเนื่องเป็นวงกลม มีความตื้นลึกไม่เท่ากัน การทำให้เกิดเสียงต้องใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีเข็มแหลมอยู่ที่ปลายของเครื่องเล่น เข็มจะครูดไปตามร่องทำให้เกิดการสั่นสะเทือน และจะมีเครื่องแปลงสัญญาณคลื่นเป็นสัญญาณไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็ก และเป็นคลื่นเสียงในที่สุด แผ่นเสียงมีหลายขนาด เช่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว 6 นิ้ว ซึ่งแต่ละขนาดใช้เวลาในการเล่นไม่เท่ากัน ปัจจุบันมีการใช้น้อยมาก เพราะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่
2.2 แถบบันทึกเสียงหรือเทปบันทึกเสียง (phonotape) มีลักษณะเป็นแถบแม่เหล็กบันทึกเสียง มี 2 แบบ คือ แบบม้วน (reel tape) และแบบตลับ (cassette tape)
2.3 แผ่นซีดี (compact discs) ทำด้วยโลหะ มีรูปทรงคล้ายแผ่นเสียง การบันทึกใช้ระบบแสงเลเซอร์ฉายบนพื้นผิวทำให้เกิดเป็นร่องเล็ก ๆ บนพื้นผิวอย่างต่อเนื่องเป็นวงกลม มีความตื้นลึกไม่เท่ากัน เวลาเล่นจะต้องมีเครื่องเล่นโดยเฉพาะ มีหัวอ่านซึ่งจะฉายแสงเลเซอร์ลงไปบนร่องลำแสงสะท้อนออกมา จะเป็นจังหวะตามความขรุขระของร่องเสียง และมีหน่วยแปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณเสียง ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีสูงขึ้น ทำให้คุณภาพของเสียงที่ดีกว่าเสียงจากแผ่นเสียง หรือแถบบันทึกเสียง
3. ทัศนวัสดุทัศนวัสดุ (visual materials) คือ วัสดุสารสนเทศที่ต้องใช้สายตาเป็นสื่อในการรับรู้สารสนเทศโดยการมองดู อาจดูโดยตาเปล่าหรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์สำหรับฉายประกอบ เช่น
3.1รูปภาพ (picture) อาจเป็นภาพเขียน ภาพถ่าย หรือภาพพิมพ์ ซึ่งจะแสดงเนื้อหาให้เข้าใจเรื่องราวจากภาพ
3.2 ลูกโลก (globe) เป็นวัสดุที่ใช้แสดงลักษณะของพื้นผิวโลก และสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับแผนที่ ต่างกันตรงที่ลูกโลกมีลักษณะเป็นทรงกลม
3.3 ภาพเลื่อน หรือฟิล์มสตริป (filmstrips) ส่วนใหญ่ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. ใช้เทคนิคการถ่ายภาพทีละภาพลงบนฟิล์มม้วน มีความยาวประมาณ 30-60 ภาพ เวลาฉายจะเลื่อนไปทีละภาพ
3.4 ภาพนิ่ง หรือสไลด์ (slides) ส่วนใหญ่มีขนาด 2 นิ้ว x 2 นิ้ว ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. มีลักษณะการฉายภาพเช่นเดียวกับฟิล์มสตริป ต่างกันตรงที่ภาพแต่ละภาพของสไลด์จะอยู่บนฟิล์มแต่ละแผ่น ซึ่งจะนำมาทำกรอบอีกครั้งหนึ่ง
3.5 แผ่นภาพโปร่งใส (transparencies) เป็นแผ่นพลาสติกหรือาซีเตท (acetate) ใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (overhead projector) ขนาดที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ 7 นิ้ว x 7 นิ้ว และ 10 นิ้ว x 10 นิ้ว
3.6 หุ่นจำลอง (model) แสดงวัสดุในลักษณะ 3 มิติ ทำเลียนแบบของจริง คล้ายกับของจริง ย่อส่วนให้เล็กลง อาจตัดทอนรายละเอียดที่ยุ่งยากซับซ้อนออก คงไว้แต่ลักษณะสำคัญ
4. โสตทัศนวัสดุ โสตทัศนวัสดุ (audiovisual materials) เป็นวัสดุสารสนเทศที่ถ่ายทอดโดยการใช้ทั้งภาพและเสียงประกอบกัน เช่น
4.1 ภาพยนตร์ (motion pictures) เป็นวัสดุสารสนเทศที่ใช้เทคนิคการบันทึกภาพและเสียงลงบนฟิล์มขนาดต่าง ๆ กัน เช่น 8 มม. 16 มม. 35 มม. 70 มม. เป็นต้น ภาพยนตร์เป็นภาพนิ่งโปร่งแสงที่เสนอความต่อเนื่องของอิริยาบถต่าง ๆ เวลาถ่ายทำจะถ่ายทำด้วยความเร็วของกล้องให้ได้ภาพแต่ละภาพด้วยความเร็วสูงมาก เช่น 18 ภาพ/วินาที หรือ 24 ภาพ/วินาที และนำฟิล์มไปล้างอัดในห้องที่ใช้เทคนิคพิเศษ เพื่อให้ได้ภาพเมื่อภายออกมาจะมีอิริยาบถต่าง ๆ เหมือนจริง
4.2 สไลด์ประกอบเสียง (slide multivisions) เป็นการฉายภาพนิ่งลักษณะเดียวกับสไลด์ แต่แตกต่างตรงที่มีเสียงประกอบ
4.3 วีดิทัศน์หรือเทปบันทึกภาพ (videotapes) เป็นเทปแม่เหล็กที่ใช้บันทึกภาพและเสียงในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถลบและบันทึกใหม่ได้เช่นเดียวกับเทปบันทึกเสียง การใช้ต้องใช้ร่วมกับเครื่องบันทึกภาพ เครื่องเล่นวีดิทัศน์และเครื่องรับโทรทัศน์
5. วัสดุย่อส่วนวัสดุย่อส่วน (microforms) เป็นวัสดุสารสนเทศที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพย่อส่วนจากของจริงลงบนแผ่นฟิล์มหรือวัสดุที่ใช้บันทึกภาพ ประโยชน์ที่ได้คือ เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ เมื่อต้องการใช้สารสนเทศ จะต้องนำฟิล์มย่อส่วนนั้นมาเข้าเครื่องอ่าน จึงจะสามารถอ่านได้ และถ้าต้องการทำสำเนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ต้องมีเครื่องพิมพ์หรือเครื่องทำสำเนาภาพจากวัสดุย่อส่วนด้วย สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีก ได้แก่
5.1 ไมโครฟิล์ม (microfilms) เป็นการถ่ายสารสนเทศย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนฟิล์มม้วน ขนาด 16 มม. หรือ 35 มม. ความยาวของฟิล์มขึ้นอยู่กับเนื้อหาของสารสนเทศแต่ที่นิยมมาก คือ ขนาด 100 ฟุต อัตราการย่อส่วนขนาด 15:1 ถึง 40:1
5.2 ไมโครฟิช (microfiches) เป็นการถ่ายสารสนเทศย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนแผ่นฟิล์มขนาด 3 นิ้ว x 5 นิ้ว หรือ 4 นิ้ว x 6 นิ้ว หรือ 5 นิ้ว x 8 นิ้ว ไมโครฟิชหนึ่งแผ่นสามารถถ่ายย่อจากต้นฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 100 หน้า อัตราการย่อส่วน 15:1 ถึง 40:1
5.3 ไมโครบุค (microbook) คือ ไมโครฟิชที่ถ่ายในอัตราการย่อส่วนลงจนมีขนาดเล็กมาก ฟิล์มขนาด 3 นิ้ว x 5 นิ้ว สามารถบรรจุข้อความจากสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 1,000 หน้า
5.4 อุลตราฟิช (ultrafiche) มีขนาดเล็กกว่าไมโครฟิช เป็นการถ่ายภาพย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนฟิล์ม ขนาด 4 นิ้ว x 6 นิ้ว อุลตราฟิช 1 แผ่น ถ่ายย่อจากต้นฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 3,000 หน้า
5.5 ไมโครโอเพค (micro-opague) เป็นการถ่ายภาพย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนกระดาษทึบแสง มีหลายขนาดเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ไมโครคาร์ด (microcard) ไมโครพรินท์ (microprint) ไมโครเล็กซ์ (microlex) และ มินิพรินท์ (mini-print)
6. วัสดุอิเล็กทรอนิกส์วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ (electronic materials) เป็นวัสดุสารสนเทศที่จัดเก็บสารสนเทศในรูปอักษร ภาพ และเสียงไว้โดยการแปลงสารสนเทศให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บและแสดงผลออกมา โดยการแปลงสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นสัญญาณภาพและเสียง อีกครั้งหนึ่ง เช่น
6.1 เทปแม่เหล็ก (magnetic tape) มีลักษณะคล้ายแถบบันทึกเสียง ความยาวปกติ 2,400 ฟุต กว้าง 0.5 นิ้ว ทำด้วยพลาสติก เคลือบด้วยสารไอออนออกไซด์ (iron oxide) ทำให้เป็นสารแม่เหล็ก ข้อมูลที่มีความยาว 80 ตัวอักษร สามารถบันทึกไว้ในเทปแม่เหล็กที่มีความยาวเพียง 0.1 นิ้ว หรือ 1 ม้วน บรรจุข้อมูลได้ถึง 100 ล้านตัวอักษร สามารถบันทึกซ้ำ (reversed) หรือลบข้อมูลได้
6.2 จานแม่เหล็ก/แผ่นดิสเก็ต (disket) เป็นแผ่นโลหะหุ้มด้วยไมลาอีก 1 ชั้นมีหลายชนิดและหลายขนาด แต่ละชนิดมีสมรรถนะความจุในการบันทึกข้อมูลได้แตกต่างกัน6.3 แผ่นจานแสง (optical disc) เป็นแผ่นโลหะผสมพิเศษ มีความแข็งแรงน้ำหนักเบา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ¾ นิ้ว บันทึกและอ่านสารสนเทศด้วยระบบแสงเลเซอร์ ต้องมีเครื่องบันทึกและอ่านโดยเฉพาะ ประเภทของจานแสงที่ผู้ใช้คุ้นเคยมากที่สุด คือ ซีดี-รอม (Compact Disc Read Only Memory หรือ CD-ROM) มีลักษณะเหมือนแผ่นจานแสงทั่วไปใช้อ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ไม่สามารถบันทึกหรือแก้ไขข้อมูลที่บันทึกไว้ได้ แผ่นซีดี-รอม มีความสามารถในการบรรจุสารสนเทศได้มาก ซีดี-รอม 1 แผ่น จุข้อความได้เทียบเท่าหนังสือหนาประมาณ 275,000 หน้ากระดาษ หรือ 600 ล้านตัวอักษร ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น สามารถบันทึกสารสนเทศได้ทั้งภาพ เสียง ตัวอักษร และภาพเคลื่อนไหว ในลักษณะสื่อผสม (multimedia) และเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในเรื่องฐานข้อมูลซีดี-รอม

วัสดุตีพิมพ์

วัสดุตีพิมพ์
วัสดุตีพิมพ์ หมายถึงวัสดุที่บันทึกสารสนเทศในรูปแบบของตัวอักษร ภาพและสัญลักษณ์อื่น ๆ โดยผ่านกระบวนการตีพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ กฤตภาค เป็นต้น วัสดุตีพิมพ์จัดแยกประเภทตามลักษณะรูปเล่มและวัตถุประสงค์ในการจัดทำได้ดังนี้
1. หนังสือหนังสือเป็นสิ่งพิมพ์ที่รวบรวมสารสนเทศทั้งทางด้านวิชาการ สารคดีและบันเทิงคดี ให้เนื้อหาที่จบบริบูรณ์ในเล่มเดียวหรือหลายเล่มที่เรียกว่า หนังสือชุด ประเภทของหนังสือจัดแยกตามลักษณะเนื้อหา ได้ดังนี้
1.1 หนังสือวิชาการหรือหนังสือตำรา (text book) หมายถึงหนังสือที่ให้ความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยผู้แต่งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา การนำเสนอเนื้อหามักใช้คำศัพท์เฉพาะทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีภาพประกอบ ตาราง แผนภูมิ แผนที่ แผนผัง เพื่อการอธิบายเรื่องราวให้ละเอียดชัดเจน
1.2 หนังสือสารคดี หมายถึงหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวกึ่งวิชาการเพื่อความเพลิดเพลินในการอ่าน และหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์เฉพาะทางวิชาการเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาสาระได้โดยง่าย เช่น หนังสือนำเที่ยว หนังสือสรรพสาระ (Reader Dijet) เป็นต้น
1.3 หนังสือแบบเรียน หมายถึงหนังสือที่จัดทำขึ้นตามหลักสูตรรายวิชาเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาในระดับต่าง ๆ นำเสนอเนื้อหาตามข้อกำหนดในหลักสูตร ต่างจากหนังสือตำราทั่วไปที่มีคำถามท้ายบทเพื่อให้ผู้เรียนได้ประเมินผลการเรียนและทบทวนบทเรียน
1.4 หนังสืออ้างอิง (reference books) หมายถึงหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวข้อเท็จจริงในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เช่น หนังสือสารานุกรม พจนานุกรม นามานุกรม หนังสืออ้างอิงชีวประวัติ หนังสืออ้างอิงภูมิศาสตร์ หนังสือรายปี หนังสือบรรณานุกรม หนังสือดัชนีและสาระสังเขป และหนังสือคู่มือ เป็นต้น โดยทั่วไปทางห้องสมุดจะจัดแยกหนังสืออ้างอิงออกจากหนังสือทั่วไป เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และมักจะไม่ให้ยืมออกจากห้องสมุด ทั้งนี้เพราะผู้ค้นคว้าต้องการคำตอบในปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องอ่านตลอดเล่ม และเพื่อให้สามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลา
1.5 วิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ (thesis or dissertation) เป็นรายงานผลการค้นคว้าวิจัยเพื่อขอรับปริญญาตามหลักสูตรในระดับปริญญาโท (thesis) และ ปริญญาเอก (dissertation) เนื่องจากเป็นรายงานผลการค้นพบสาระความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ได้จากการสำรวจ ทดลอง วิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบภายใต้การให้คำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการเขียนเอกสารตำราวิชาการ หรือรายงานภาคนิพนธ์
1.6 รายงานการวิจัย (research report) เสนอสารสนเทศที่เป็นผลผลิตจากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย- เนื้อหามักประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ข้อความเกี่ยวกับ ผู้เขียน สาระสังเขป บทนำ วัตถุประสงค์ ขอบเขต และวิธีดำเนินการวิจัย ผลการวิจัย บทสรุป และ รายการอ้างอิง
1.7 รายงานการประชุมทางวิชาการ (proceedings) ให้สารสนเทศที่ได้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นข้อสรุปในการแก้ปัญหา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้ใหม่ที่ค้นพบ หรือข้อตกลงในแผนงานหรือนโยบายใหม่ ที่นักวิชาการนำเสนอในการประชุมทางวิชาการหรือวิชาชีพ
1.8 นวนิยายและเรื่องสั้น (short story collection) เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นตามจินตนาการ เน้นความสนุกความเพลิดเพลิน และความซาบซึ้งในอรรถรสวรรณกรรม สารสนเทศจากนวนิยายนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงข้อเท็จจริงไม่ได้
2. วารสารและนิตยสาร
วารสารและนิตยสารมาจากคำในภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ Magazine, Journal และ Periodical มีความหมายแตกต่างกันตามลักษณะเนื้อหาที่นำเสนอ Magazine หรือเรียกว่า “นิตยสาร” มักจะเน้นเนื้อหาทางด้านบันเทิงคดี Journal หรือเรียกว่า “วารสาร” จะเน้นเนื้อหาทางวิชาการ ส่วนคำว่า Periodical หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นวาระ มีความหมายรวมทั้ง Magazine และ Journal เช่นเดียวกับคำว่า “วารสาร” ในภาษาไทยที่มีความหมายรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นวาระ มีความหมายรวมทั้งนิตยสารและวารสารวารสารเป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกตามกำหนดระยะเวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ (สองสัปดาห์) หรือรายเดือน ให้สารสนเทศในรูปแบบ “บทความ” จากผู้แต่งหลายคน เนื้อหาสาระอาจเป็นเรื่องในสาขาวิชาเดียวกัน หรือรวมเรื่อง ซึ่งอาจแบ่งประเภทวารสารตามลักษณะเนื้อหาเป็น 3 ประเภท คือ
2.1 วารสารวิชาการ (journals or periodicals) เช่น ราชภัฏกรุงเก่า/ จุฬาลงกรณ์รีวิว/ วารสารวิจัย/ วารสารราชบัณฑิตยสถาน/ พัฒนาชุมชน/ วารสารกฎหมายเพื่อชีวิต/ Journal of Science, Technology and Humanities/ Journal of Teacher Education / Educational Research/ ASEAN Journal on Science เป็นต้น
2.2 วารสารทั่วไปหรือนิตยสาร (magazine) เช่น เที่ยวรอบโลก / สารคดี/ สมุนไพรเพื่อชีวิต/ รักลูก/ สกุลไทย/ หญิงไทย/ สร้างเงินสร้างงาน/ สานแสงอรุณ/ ไฮ-คลาส/ ต่วย’ตูนพิเศษ/ National Geographic/ Discover/ Reader’s Digest เป็นต้น
2.3 วารสารข่าวหรือวิจารณ์ข่าว (news magazine) เช่น มติชนสุดสัปดาห์/ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์/ เอกสารข่าวรัฐสภา/ Time/ Newsweek/ AsiaNews
3. หนังสือพิมพ์หนังสือพิมพ์ (newspaper) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกตามระยะเวลาที่กำหนด อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายปักษ์ แต่ส่วนใหญ่จะพิมพ์เผยแพร่เป็นรายวันประเภทของหนังสือพิมพ์อาจจัดแยกตามลักษณะการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 2 ประเภทคือ หนังสือพิมพ์ปริมาณ และหนังสือพิมพ์คุณภาพหนังสือพิมพ์ปริมาณจะเน้นการเสนอเนื้อหาและวิธีการเขียนที่เร้าอารมณ์ ชวนอ่าน ข่าวส่วนใหญ่จะเป็น “ข่าวอ่อน” (soft news) เช่น ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวสังคม ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา เป็นต้นหนังสือพิมพ์คุณภาพจะเน้นเสนอเนื้อหาที่ให้รายละเอียดตามข้อเท็จจริง วิธีการเขียนจะไม่เร้าอารมณ์เหมือนหนังสือพิมพ์ปริมาณ ข่าวส่วนใหญ่จะเป็น “ข่าวแข็ง” (hard news) เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศ ข่าวการศึกษา ข่าวศิลปะวัฒนธรรม เป็นต้นหนังสือพิมพ์บางประเภทนำเสนอข่าวเฉพาะเรื่องเช่นข่าวธุรกิจ ได้แก่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ ข่าวพาณิชย์ ฯลฯ หรือเสนอเฉพาะข่าวกีฬาได้แก่ โลกกีฬา สยามกีฬา ฯลฯ หรือเสนอข่าวการศึกษาและการจัดหางานได้แก่ วัฏจักรการศึกษา แรงงานไทย ตลาดแรงงานตลาดบันเทิง ฯลฯ ซึ่งหนังสือพิมพ์เฉพาะเรื่องจะออกเป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายวันหนังสือพิมพ์และวารสารแตกต่างกันที่วิธีการนำเสนอเนื้อหา วารสารจะนำเสนอเรื่องราวสาระในรูปบทความเช่น บทความทางวิชาการ หรือสารคดี และหากเป็นวารสารข่าวจะนำเสนอในลักษณะการนำข่าวที่เกิดขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนหนังสือพิมพ์จะนำเสนอข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสด ๆ ในชีวิตประจำวัน
4. จุลสารจุลสาร (pamphlets) คือสิ่งพิมพ์ที่มีขนาดเล็ก ปกอ่อน ความหนาอยู่ระหว่าง 2 – 60 หน้า เป็นสิ่งพิมพ์ที่หน่วยงานราชการ องค์การ บริษัท ห้างร้าน สถาบัน สมาคมและหน่วยงานต่าง ๆ จัดพิมพ์เผยแพร่เรื่องราว ความรู้สั้น ๆ เนื้อหาทันสมัย อ่านเข้าใจง่าย แม้จะให้รายละเอียดไม่มากนัก แต่ใช้สำหรับค้นคว้าเพิ่มเติมและอ้างอิงได้
5. กฤตภาคกฤตภาค (clipping) เป็นวัสดุตีพิมพ์ที่เกิดจากการเลือกและจัดเก็บ บทความที่น่าสนใจจากหนังสือพิมพ์หรือวารสารฉบับล่วงเวลา ซึ่งอาจเป็นข่าว บทความวิชาการหรือรูปภาพ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาหาความรู้
6. สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษสิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษ หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่มีความพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งพิมพ์ทั่วไป ทางด้านลักษณะรูปทรง วัสดุที่ใช้ในการบันทึก และการนำเสนอเนื้อหาสารสนเทศในลักษณะพิเศษเฉพาะเจาะจง สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษที่จัดให้บริการในห้องสมุดและสถาบันบริการสารสนเทศ ได้แก่
6.1 เอกสารสิทธิบัตร (patents) ให้สารสนเทศเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยรายละเอียด 3 ส่วน คือรายละเอียดทางบรรณานุกรม การประดิษฐ์ และรายละเอียดการขอถือสิทธิตัวอย่างเอกสารสิทธิบัตรแสดงในรูปภาพที่ขอบเขตสาระสำคัญในเอกสารสิทธิบัตรแต่ละฉบับ จะให้ความรู้ไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดเช่น เอกสารสิทธิบัตรเรื่องเครื่องพิมพ์ดีด ในเอกสารสิทธิบัตรฉบับหนึ่งจะกล่าวถึงกลไกการป้อนกระดาษ อีกฉบับหนึ่งจะบรรยายเฉพาะกลไกการบังคับการหมุนของผ้าหมึก ดังนั้น ถ้าจะสร้างเครื่องพิมพ์ดีด ก็จะต้องศึกษาวิธีการทำเครื่องบังคับกลไกต่าง ๆ ของเครื่องพิมพ์ดีดในเอกสารสิทธิบัตรหลายฉบับแหล่งบริการเอกสารสิทธิบัตรติดต่อขอใช้บริการได้ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี และสำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือที่เว็บไซต์ http://siweb.dss.go.th/patent
6.2 เอกสารมาตรฐาน (Standards) เป็นเอกสารที่ระบุข้อกำหนดหรือเกณฑ์ที่ใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคุณภาพ ความเหมาะสม ความปลอดภัย หรือคุณค่าของสิ่งของ เครื่องมือ และวิธีการปฏิบัติ ที่เป็นมาตรฐาน เอกสารประเภทนี้สามารถนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการกำหนดระเบียบ คู่มือ หรือใช้เป็นข้อบังคับในทางกฎหมายได้ เอกสารมาตรฐานประกอบด้วยสารสนเทศ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเนื้อหามาตรฐานและส่วนข้อมูลเพิ่มเติมส่วนเนื้อหามาตรฐานประกอบด้วย บทนิยาม ลัญลักษณ์และตัวย่อ คุณลักษณะที่ต้องการ (requirements) การชักตัวอย่าง (sampling) วิธีทดสอบ (test methods) การแบ่งประเภท(classification) การเรียกชื่อขนาด(designation) การทำเครื่องหมาย ฉลาก การบรรจุหีบห่อ ผนวกของเนื้อหามาตรฐานแหล่งบริการเอกสารมาตรฐานได้แก่ องค์การค้าระหว่างประเทศ เช่น ไอเอสโอ (International Organization for Standardization – ISO) องค์การมาตรฐานภูมิภาค เช่น มาตรฐานยุโรป หรือ อีเอ็น (Europaische Norm – EN) สำหรับเอกสารมาตรฐานของไทยติดต่อขอใช้บริการได้ที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม หรือที่เว็บไซต์ http://library.tisi.go.th/T/fulltext/TIS/by_title/P1.htm

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง สารสนเทศที่จัดเก็บไว้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีชุดคำสั่งระบบจัดการฐานข้อมูล ทำหน้าที่ควบคุมการจัดการและการใช้ฐานข้อมูลประเภทของฐานข้อมูลแบ่งตามลักษณะการใช้งานแบ่งได้ 2 ประเภทคือ ฐานข้อมูลออฟไลน์ และฐานข้อมูลออนไลน์ แบ่งตามเนื้อหาสารสนเทศที่ให้บริการแบ่งได้เป็น ฐานข้อมูลบรรณานุกรม และฐานข้อมูลฉบับเต็มประเภทของฐานข้อมูลแบ่งตามลักษณะการใช้งานแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ฐานข้อมูลออฟไลน์ (Offline Database) หมายถึงฐานข้อมูลที่จัดเก็บสารสนเทศไว้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ซีดีรอม (CD-ROM) การปรับปรุงและการเรียกใช้งานฐานข้อมูลไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา
2. ฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Database) หมายถึงฐานข้อมูลที่ให้บริการผ่านทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ผู้จัดการฐานข้อมูลสามารถปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยและผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันจะให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต ประเภทของฐานข้อมูลแบ่งตามเนื้อหาสารสนเทศที่ให้บริการแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1. ฐานข้อมูลบรรณานุกรม หมายถึง ฐานข้อมูลที่ให้สารสนเทศทางบรรณานุกรม เช่น ชื่อผูแต่ง ชื่อเรื่อง แหล่งผลิต และอาจมีสาระสังเขป เพื่อแนะนำผู้ค้นคว้าให้ไปอ่านรายละเอียดจากต้นฉบับจริง ได้แก่ ฐานข้อมูลโอแพค (OPAC) ของห้องสมุด ฐานข้อมูล TIAC ให้ข้อมูลบรรณานุกรมและสาระสังเขปของวิทยานิพนธ์ไทย ฐานข้อมูล DAO ให้ข้อมูลบรรณานุกรมและสาระสังเขปของวิทยานิพนธ์ต่างประเทศ หรือ ฐานข้อมูล ERIC ให้ข้อมูลบรรณานุกรมและสาระสังเขปของหนังสือและบทความจากวารสารด้านการศึกษา เป็นต้น
2.2. ฐานข้อมูลเนื้อหาฉบับเต็ม หมายถึง ฐานข้อมูลที่ให้สารสนเทศครบถ้วนเช่นเดียวเหมือนต้นฉบับ เช่น ฐานข้อมูล IEEE/IEE และ ACM เป็นฐานข้อมูลฉบับเต็มของบทความจากวารสาร นิตยสาร รายงานการประชุมความก้าวหน้าทางสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้นตัวอย่างฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ต่างประเทศที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาบอกรับเป็นสมาชิก และให้บริการผ่านเครือข่าย UniNet ได้แก่
1. Science Directฐานข้อมูลบทความวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ใน 24 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ การแพทย์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จำนวน 1,800 ชื่อของสำนักพิมพ์ Elsevier science, Academic Press และสำนักพิมพ์อื่น ๆ รวมทั้งวารสารวิจารณ์ (reviews) จำนวนกว่า 6.2 ล้านระเบียน สามารถเข้าถึงฉบับเต็มได้เกือบทุกชื่อ ตั้งแต่ปี 1995 – ปัจจุบัน สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.sciencedirect.com/
2. IEEE/IEE Electronic Library (IEL)ฐานข้อมูลเอกสารฉบับเต็มทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น Computer Science, Acoustics, Aerospace, Engineering Education, Industrial Engineering, Remote Sensing, Transportation มีเอกสารฉบับเต็มของวารสาร นิตยสาร รายงานความก้าวหน้า เอกสารการประชุม และเอกสารมาตรฐานของ The Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) และ Institute of Electrical Engineering (IEE) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายการ (documents) ตั้งแต่ปี 1988 – ปัจจุบัน มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง แสดงผลเอกสารฉบับเต็มในรูป pdf file สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.ieee.org/ieeexplore/
3. ProQuest Dissertations & Theses –A&I ฐานข้อมูลสาระสังเขปวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกและปริญญาโท ของสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมถึงสถาบันการศึกษาจากทวีปยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย และ แอฟริกา มากกว่า 1,000 แห่ง มีสาระสังเขปวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านรายการ (entries) มีแสดงผล (preview) วิทยานิพนธ์ฉบับเต็มในรูป pdf file ตั้งแต่ปี 1997 ถึงปัจจุบันรายการละ 24 หน้า มีการเพิ่มสาระสังเขปวิทยานิพนธ์อย่างน้อย 55,000 รายการ (title) ต่อปี สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://wwwlib.umi.com/dissertations
4. ACM Digital Libraryฐานข้อมูลบรรณานุกรม สาระสังเขป และเอกสารฉบับเต็ม ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากบทความฉบับเต็มของวารสาร นิตยสาร รายงานความก้าวหน้า เอกสารการประชุมและข่าวสาร ไม่น้อยกว่า 325 ชื่อ ที่ตีพิมพ์โดย Association for Computing Machinery (ACM) ตั้งแต่ปี 1985 – ปัจจุบัน มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง แสดงผลเอกสารฉบับเต็มในรูป pdf file สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.acm.org/
5. Lixis.com and Nexis.comฐานข้อมูลเอกสารฉบับเต็มทางด้านกฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา ข่าว ธุรกิจของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ ปี 1980 – ปัจจุบัน ประกอบด้วยฐานข้อมูลย่อย 2 ฐานข้อมูล คือ Lexis.com เป็นฐานข้อมูลทางด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กฎหมายระหว่างประเทศ และคำพิพากษาสูงสุดของสหรัฐอเมริกา มีเอกสารฉบับเต็มไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านรายการ (documents) และ Nexis.com เป็นฐานข้อมูลทางบริหารธุรกิจและการจัดการ ข่าว แหล่งข้อมูลธุรกิจ ธุรกิจการเงิน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มีเอกสารฉบับเต็มไม่น้อยกว่า 4.1 ล้านรายการ (documents) แสดงผลในรูป text html มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://www.lexisnexis.com/th/
6. H.W.Wilsonฐานข้อมูลดัชนีสาระสังเขป และเอกสารฉบับเต็มจากบทความวารสารไม่น้อยกว่า 1,800 ชื่อเรื่อง ครอบคลุมทุกสาขาวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี ชีววิทยาและการเกษตร ศิลปะ ธุรกิจ การศึกษา มนุษยศาสตร์ กฎหมาย บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศ สังคมศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สัตวศาสตร์ และสันทนาการ ฯลฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 – ปัจจุบัน แสดงผลในรูป pdf file และ text html มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://vnweb.hwwilsonweb.com/hww/jumpstart.jhtml
7. ISI Web of Scienceผลิตโดยบริษัท Thomson Corporation เป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมและสาระสังเขป ครอบคลุมสาขาวิชาหลักคือ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยวิทยา ประกอบด้วยฐานข้อมูลย่อยด้านการอ้างอิงผลงานตีพิมพ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสาขาวิชา (Science citations, Social Science citation และ Arts & Humanities citation) จากวารสารไม่น้อยกว่า 8,500 ชื่อ มีข้อมูลไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านระเบียน (records) ตั้งแต่ปี 2001 – ปัจจุบัน มีข้อมูลจำนวนกว่า 1.1 ล้านระเบียน แสดงผลในรูป text html มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ http://isiknowlegde.com
8. eBooksเป็นการให้บริการหนังสือและวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยืมหนังสือที่ห้องสมุด สามารถสืบค้นและใช้งานหนังสือเล่มที่ต้องการได้ผ่านเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา UniNet สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีหนังสือที่ให้บริการอยู่จำนวน 14,470 รายการ ประกอบด้วย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ลิขสิทธิ์ของ SpringerLink จำนวน 1,528 รายการ สามารถใช้งานได้ที่ URL: http://ebooks.springerlink.com/วิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ Dissertation Fulltext จำนวน 3,850 รายการสามารถใช้งานได้ที่ URL: http://ebook.thailis.or.th/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ลิขสิทธิ์ของ NetLibrary จำนวน 5,962 รายการ และหนังสือ Publicly accessible eBooks จำนวน 3,400 รายการ สามารถใช้งานได้ที่ URL: http://www.netlibrary.com/

การเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศ

เราสามารถเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศได้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ โดยมีหลักในการพิจารณาดังนี้ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2549)
1. มีความสอดคล้องกับเนื้อหาสารสนเทศที่ต้องการ เช่น ถ้าต้องการสารสนเทศเฉพาะวิชา ควรเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศประเภทหนังสืออ้างอิง ตำราและวารสารวิชาการ มากกว่าประเภทหนังสือทั่วไปและนิตยสาร หากต้องการสารสนเทศที่แสดงความสัมพันธ์ของเรื่องราวอย่างชัดเจน ควรเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นภาพเคลื่อนไหวเช่น วีดิทัศน์ วีซีดีหรือ ดีวีดี เป็นต้น หากต้องการฟังการบรรยาย เพลง ดนตรี ควรเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศที่มีบันทึกเสียง เช่น เทป ซีดี หรือ วีซีดี เป็นต้น
2. การพิจารณาความน่าเชื่อถือในตัวทรัพยากร ผู้เรียนจะต้องพิจารณาจากชื่อเสียง ประสบการณ์หรือคุณวุฒิของผู้แต่ง สำนักพิมพ์หรือผู้ผลิตทรัพยากรสารสนเทศด้วย เช่น หนังสืออ้างอิงจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหนังสือทั่วไป เพราะเขียนและรวบรวมโดยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา
3. ความสะดวกในการใช้งาน ทรัพยากรประเภทตีพิมพ์จะสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายกว่าทรัพยากรประเภทไม่ตีพิมพ์ หรือทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ เพราะสามารถใช้งานได้ทันที ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการแสดงผลเหมือนกับทรัพยากรประเภทไม่ตีพิมพ์หรือ ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์
4. ความทันสมัยของเนื้อหา เช่น หากผู้เรียนต้องการสารสนเทศที่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว ก็สมควรเลือกพิจารณาสารสนเทศที่ได้จากทรัพยากรประเภทอินเทอร์เน็ต เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา หรือเลือกใช้ทรัพยากรตีพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์ที่มีการให้ข้อมูลที่กำลังเป็นที่น่าสนใจและได้รับความสนใจในปัจจุบัน

สรุป

ทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึงสื่อหรือวัสดุที่ใช้เก็บบันทึกสารสนเทศ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1) วัสดุตีพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ จุลสาร กฤตภาค และสิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษ เช่น เอกสารสิทธิบัตร เอกสารมาตรฐาน แผนภูมิ แผนภาพ แผนที่ 2) วัสดุไม่ตีพิมพ์ ได้แก่ ต้นฉบับตัวเขียน โสตวัสดุ ทัศนวัสดุ โสตทัศนวัสดุ วัสดุย่อส่วน วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ และ 3) ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีทั้งฐานข้อมูลแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ทรัพยากรสารสนเทศประเภทฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใช้งานได้สะดวก เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฐานข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีให้บริการสืบค้นสารสนเทศครอบคลุมทุกสาขาวิชา ในการพิจารณาเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศต้องคำนึงถึง เนื้อหาที่ตรงกับความต้องการ ความน่าเชื่อถือ ความสะดวกในการใช้งานและความทันสมัยของเนื้อหา