วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

วัสดุไม่ตีพิมพ์

วัสดุไม่ตีพิมพ์
วัสดุไม่ตีพิมพ์ หมายถึง ทรัพยากรสารสนเทศที่บันทึกไว้ในสื่อที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตีพิมพ์ มีหลายประเภทดังนี้ (ศรีสุภา นาคธน, 2548)
1. ต้นฉบับตัวเขียนต้นฉบับตัวเขียน (manuscript) คือ ทรัพยากรสารสนเทศที่จัดทำขึ้น โดยใช้ลายมือเขียน ได้แก่ หนังสือที่จัดทำในสมัยโบราณก่อนที่จะมีการพิมพ์ โดยการใช้จาร หรือสลักลงบนวัสดุต่าง ๆ เช่น สมุดข่อย ใบลาน แผ่นปาปิรัส (papyrus) แผ่นดินเหนียว แผ่นหนังสัตว์ ศิลาจารึก เป็นต้น ตัวอย่างต้นฉบับตัวเขียน
2. โสตวัสดุโสตวัสดุ (audio materials) คือ วัสดุสารสนเทศที่ใช้เสียงเป็นสื่อในการถ่ายทอดสารสนเทศ เช่น
2.1 แผ่นเสียง (phonodiscs) วัสดุทำด้วยครั่ง หรือพลาสติก ทรงกลม ใช้เทคนิคที่ทำให้เกิดร่องเล็ก ๆ บนพื้นผิวอย่างต่อเนื่องเป็นวงกลม มีความตื้นลึกไม่เท่ากัน การทำให้เกิดเสียงต้องใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีเข็มแหลมอยู่ที่ปลายของเครื่องเล่น เข็มจะครูดไปตามร่องทำให้เกิดการสั่นสะเทือน และจะมีเครื่องแปลงสัญญาณคลื่นเป็นสัญญาณไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็ก และเป็นคลื่นเสียงในที่สุด แผ่นเสียงมีหลายขนาด เช่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว 6 นิ้ว ซึ่งแต่ละขนาดใช้เวลาในการเล่นไม่เท่ากัน ปัจจุบันมีการใช้น้อยมาก เพราะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่
2.2 แถบบันทึกเสียงหรือเทปบันทึกเสียง (phonotape) มีลักษณะเป็นแถบแม่เหล็กบันทึกเสียง มี 2 แบบ คือ แบบม้วน (reel tape) และแบบตลับ (cassette tape)
2.3 แผ่นซีดี (compact discs) ทำด้วยโลหะ มีรูปทรงคล้ายแผ่นเสียง การบันทึกใช้ระบบแสงเลเซอร์ฉายบนพื้นผิวทำให้เกิดเป็นร่องเล็ก ๆ บนพื้นผิวอย่างต่อเนื่องเป็นวงกลม มีความตื้นลึกไม่เท่ากัน เวลาเล่นจะต้องมีเครื่องเล่นโดยเฉพาะ มีหัวอ่านซึ่งจะฉายแสงเลเซอร์ลงไปบนร่องลำแสงสะท้อนออกมา จะเป็นจังหวะตามความขรุขระของร่องเสียง และมีหน่วยแปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณเสียง ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีสูงขึ้น ทำให้คุณภาพของเสียงที่ดีกว่าเสียงจากแผ่นเสียง หรือแถบบันทึกเสียง
3. ทัศนวัสดุทัศนวัสดุ (visual materials) คือ วัสดุสารสนเทศที่ต้องใช้สายตาเป็นสื่อในการรับรู้สารสนเทศโดยการมองดู อาจดูโดยตาเปล่าหรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์สำหรับฉายประกอบ เช่น
3.1รูปภาพ (picture) อาจเป็นภาพเขียน ภาพถ่าย หรือภาพพิมพ์ ซึ่งจะแสดงเนื้อหาให้เข้าใจเรื่องราวจากภาพ
3.2 ลูกโลก (globe) เป็นวัสดุที่ใช้แสดงลักษณะของพื้นผิวโลก และสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับแผนที่ ต่างกันตรงที่ลูกโลกมีลักษณะเป็นทรงกลม
3.3 ภาพเลื่อน หรือฟิล์มสตริป (filmstrips) ส่วนใหญ่ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. ใช้เทคนิคการถ่ายภาพทีละภาพลงบนฟิล์มม้วน มีความยาวประมาณ 30-60 ภาพ เวลาฉายจะเลื่อนไปทีละภาพ
3.4 ภาพนิ่ง หรือสไลด์ (slides) ส่วนใหญ่มีขนาด 2 นิ้ว x 2 นิ้ว ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. มีลักษณะการฉายภาพเช่นเดียวกับฟิล์มสตริป ต่างกันตรงที่ภาพแต่ละภาพของสไลด์จะอยู่บนฟิล์มแต่ละแผ่น ซึ่งจะนำมาทำกรอบอีกครั้งหนึ่ง
3.5 แผ่นภาพโปร่งใส (transparencies) เป็นแผ่นพลาสติกหรือาซีเตท (acetate) ใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (overhead projector) ขนาดที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ 7 นิ้ว x 7 นิ้ว และ 10 นิ้ว x 10 นิ้ว
3.6 หุ่นจำลอง (model) แสดงวัสดุในลักษณะ 3 มิติ ทำเลียนแบบของจริง คล้ายกับของจริง ย่อส่วนให้เล็กลง อาจตัดทอนรายละเอียดที่ยุ่งยากซับซ้อนออก คงไว้แต่ลักษณะสำคัญ
4. โสตทัศนวัสดุ โสตทัศนวัสดุ (audiovisual materials) เป็นวัสดุสารสนเทศที่ถ่ายทอดโดยการใช้ทั้งภาพและเสียงประกอบกัน เช่น
4.1 ภาพยนตร์ (motion pictures) เป็นวัสดุสารสนเทศที่ใช้เทคนิคการบันทึกภาพและเสียงลงบนฟิล์มขนาดต่าง ๆ กัน เช่น 8 มม. 16 มม. 35 มม. 70 มม. เป็นต้น ภาพยนตร์เป็นภาพนิ่งโปร่งแสงที่เสนอความต่อเนื่องของอิริยาบถต่าง ๆ เวลาถ่ายทำจะถ่ายทำด้วยความเร็วของกล้องให้ได้ภาพแต่ละภาพด้วยความเร็วสูงมาก เช่น 18 ภาพ/วินาที หรือ 24 ภาพ/วินาที และนำฟิล์มไปล้างอัดในห้องที่ใช้เทคนิคพิเศษ เพื่อให้ได้ภาพเมื่อภายออกมาจะมีอิริยาบถต่าง ๆ เหมือนจริง
4.2 สไลด์ประกอบเสียง (slide multivisions) เป็นการฉายภาพนิ่งลักษณะเดียวกับสไลด์ แต่แตกต่างตรงที่มีเสียงประกอบ
4.3 วีดิทัศน์หรือเทปบันทึกภาพ (videotapes) เป็นเทปแม่เหล็กที่ใช้บันทึกภาพและเสียงในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถลบและบันทึกใหม่ได้เช่นเดียวกับเทปบันทึกเสียง การใช้ต้องใช้ร่วมกับเครื่องบันทึกภาพ เครื่องเล่นวีดิทัศน์และเครื่องรับโทรทัศน์
5. วัสดุย่อส่วนวัสดุย่อส่วน (microforms) เป็นวัสดุสารสนเทศที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพย่อส่วนจากของจริงลงบนแผ่นฟิล์มหรือวัสดุที่ใช้บันทึกภาพ ประโยชน์ที่ได้คือ เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ เมื่อต้องการใช้สารสนเทศ จะต้องนำฟิล์มย่อส่วนนั้นมาเข้าเครื่องอ่าน จึงจะสามารถอ่านได้ และถ้าต้องการทำสำเนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ต้องมีเครื่องพิมพ์หรือเครื่องทำสำเนาภาพจากวัสดุย่อส่วนด้วย สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีก ได้แก่
5.1 ไมโครฟิล์ม (microfilms) เป็นการถ่ายสารสนเทศย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนฟิล์มม้วน ขนาด 16 มม. หรือ 35 มม. ความยาวของฟิล์มขึ้นอยู่กับเนื้อหาของสารสนเทศแต่ที่นิยมมาก คือ ขนาด 100 ฟุต อัตราการย่อส่วนขนาด 15:1 ถึง 40:1
5.2 ไมโครฟิช (microfiches) เป็นการถ่ายสารสนเทศย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนแผ่นฟิล์มขนาด 3 นิ้ว x 5 นิ้ว หรือ 4 นิ้ว x 6 นิ้ว หรือ 5 นิ้ว x 8 นิ้ว ไมโครฟิชหนึ่งแผ่นสามารถถ่ายย่อจากต้นฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 100 หน้า อัตราการย่อส่วน 15:1 ถึง 40:1
5.3 ไมโครบุค (microbook) คือ ไมโครฟิชที่ถ่ายในอัตราการย่อส่วนลงจนมีขนาดเล็กมาก ฟิล์มขนาด 3 นิ้ว x 5 นิ้ว สามารถบรรจุข้อความจากสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 1,000 หน้า
5.4 อุลตราฟิช (ultrafiche) มีขนาดเล็กกว่าไมโครฟิช เป็นการถ่ายภาพย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนฟิล์ม ขนาด 4 นิ้ว x 6 นิ้ว อุลตราฟิช 1 แผ่น ถ่ายย่อจากต้นฉบับที่เป็นสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ 3,000 หน้า
5.5 ไมโครโอเพค (micro-opague) เป็นการถ่ายภาพย่อส่วนจากต้นฉบับลงบนกระดาษทึบแสง มีหลายขนาดเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ไมโครคาร์ด (microcard) ไมโครพรินท์ (microprint) ไมโครเล็กซ์ (microlex) และ มินิพรินท์ (mini-print)
6. วัสดุอิเล็กทรอนิกส์วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ (electronic materials) เป็นวัสดุสารสนเทศที่จัดเก็บสารสนเทศในรูปอักษร ภาพ และเสียงไว้โดยการแปลงสารสนเทศให้เป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บและแสดงผลออกมา โดยการแปลงสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นสัญญาณภาพและเสียง อีกครั้งหนึ่ง เช่น
6.1 เทปแม่เหล็ก (magnetic tape) มีลักษณะคล้ายแถบบันทึกเสียง ความยาวปกติ 2,400 ฟุต กว้าง 0.5 นิ้ว ทำด้วยพลาสติก เคลือบด้วยสารไอออนออกไซด์ (iron oxide) ทำให้เป็นสารแม่เหล็ก ข้อมูลที่มีความยาว 80 ตัวอักษร สามารถบันทึกไว้ในเทปแม่เหล็กที่มีความยาวเพียง 0.1 นิ้ว หรือ 1 ม้วน บรรจุข้อมูลได้ถึง 100 ล้านตัวอักษร สามารถบันทึกซ้ำ (reversed) หรือลบข้อมูลได้
6.2 จานแม่เหล็ก/แผ่นดิสเก็ต (disket) เป็นแผ่นโลหะหุ้มด้วยไมลาอีก 1 ชั้นมีหลายชนิดและหลายขนาด แต่ละชนิดมีสมรรถนะความจุในการบันทึกข้อมูลได้แตกต่างกัน6.3 แผ่นจานแสง (optical disc) เป็นแผ่นโลหะผสมพิเศษ มีความแข็งแรงน้ำหนักเบา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ¾ นิ้ว บันทึกและอ่านสารสนเทศด้วยระบบแสงเลเซอร์ ต้องมีเครื่องบันทึกและอ่านโดยเฉพาะ ประเภทของจานแสงที่ผู้ใช้คุ้นเคยมากที่สุด คือ ซีดี-รอม (Compact Disc Read Only Memory หรือ CD-ROM) มีลักษณะเหมือนแผ่นจานแสงทั่วไปใช้อ่านข้อมูลได้อย่างเดียว ไม่สามารถบันทึกหรือแก้ไขข้อมูลที่บันทึกไว้ได้ แผ่นซีดี-รอม มีความสามารถในการบรรจุสารสนเทศได้มาก ซีดี-รอม 1 แผ่น จุข้อความได้เทียบเท่าหนังสือหนาประมาณ 275,000 หน้ากระดาษ หรือ 600 ล้านตัวอักษร ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น สามารถบันทึกสารสนเทศได้ทั้งภาพ เสียง ตัวอักษร และภาพเคลื่อนไหว ในลักษณะสื่อผสม (multimedia) และเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในเรื่องฐานข้อมูลซีดี-รอม

6 ความคิดเห็น: