วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

วัสดุตีพิมพ์

วัสดุตีพิมพ์
วัสดุตีพิมพ์ หมายถึงวัสดุที่บันทึกสารสนเทศในรูปแบบของตัวอักษร ภาพและสัญลักษณ์อื่น ๆ โดยผ่านกระบวนการตีพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ กฤตภาค เป็นต้น วัสดุตีพิมพ์จัดแยกประเภทตามลักษณะรูปเล่มและวัตถุประสงค์ในการจัดทำได้ดังนี้
1. หนังสือหนังสือเป็นสิ่งพิมพ์ที่รวบรวมสารสนเทศทั้งทางด้านวิชาการ สารคดีและบันเทิงคดี ให้เนื้อหาที่จบบริบูรณ์ในเล่มเดียวหรือหลายเล่มที่เรียกว่า หนังสือชุด ประเภทของหนังสือจัดแยกตามลักษณะเนื้อหา ได้ดังนี้
1.1 หนังสือวิชาการหรือหนังสือตำรา (text book) หมายถึงหนังสือที่ให้ความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยผู้แต่งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา การนำเสนอเนื้อหามักใช้คำศัพท์เฉพาะทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีภาพประกอบ ตาราง แผนภูมิ แผนที่ แผนผัง เพื่อการอธิบายเรื่องราวให้ละเอียดชัดเจน
1.2 หนังสือสารคดี หมายถึงหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวกึ่งวิชาการเพื่อความเพลิดเพลินในการอ่าน และหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์เฉพาะทางวิชาการเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาสาระได้โดยง่าย เช่น หนังสือนำเที่ยว หนังสือสรรพสาระ (Reader Dijet) เป็นต้น
1.3 หนังสือแบบเรียน หมายถึงหนังสือที่จัดทำขึ้นตามหลักสูตรรายวิชาเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาในระดับต่าง ๆ นำเสนอเนื้อหาตามข้อกำหนดในหลักสูตร ต่างจากหนังสือตำราทั่วไปที่มีคำถามท้ายบทเพื่อให้ผู้เรียนได้ประเมินผลการเรียนและทบทวนบทเรียน
1.4 หนังสืออ้างอิง (reference books) หมายถึงหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวข้อเท็จจริงในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เช่น หนังสือสารานุกรม พจนานุกรม นามานุกรม หนังสืออ้างอิงชีวประวัติ หนังสืออ้างอิงภูมิศาสตร์ หนังสือรายปี หนังสือบรรณานุกรม หนังสือดัชนีและสาระสังเขป และหนังสือคู่มือ เป็นต้น โดยทั่วไปทางห้องสมุดจะจัดแยกหนังสืออ้างอิงออกจากหนังสือทั่วไป เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และมักจะไม่ให้ยืมออกจากห้องสมุด ทั้งนี้เพราะผู้ค้นคว้าต้องการคำตอบในปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องอ่านตลอดเล่ม และเพื่อให้สามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลา
1.5 วิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ (thesis or dissertation) เป็นรายงานผลการค้นคว้าวิจัยเพื่อขอรับปริญญาตามหลักสูตรในระดับปริญญาโท (thesis) และ ปริญญาเอก (dissertation) เนื่องจากเป็นรายงานผลการค้นพบสาระความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ได้จากการสำรวจ ทดลอง วิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบภายใต้การให้คำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการเขียนเอกสารตำราวิชาการ หรือรายงานภาคนิพนธ์
1.6 รายงานการวิจัย (research report) เสนอสารสนเทศที่เป็นผลผลิตจากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย- เนื้อหามักประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ข้อความเกี่ยวกับ ผู้เขียน สาระสังเขป บทนำ วัตถุประสงค์ ขอบเขต และวิธีดำเนินการวิจัย ผลการวิจัย บทสรุป และ รายการอ้างอิง
1.7 รายงานการประชุมทางวิชาการ (proceedings) ให้สารสนเทศที่ได้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเป็นข้อสรุปในการแก้ปัญหา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้ใหม่ที่ค้นพบ หรือข้อตกลงในแผนงานหรือนโยบายใหม่ ที่นักวิชาการนำเสนอในการประชุมทางวิชาการหรือวิชาชีพ
1.8 นวนิยายและเรื่องสั้น (short story collection) เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นตามจินตนาการ เน้นความสนุกความเพลิดเพลิน และความซาบซึ้งในอรรถรสวรรณกรรม สารสนเทศจากนวนิยายนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงข้อเท็จจริงไม่ได้
2. วารสารและนิตยสาร
วารสารและนิตยสารมาจากคำในภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ Magazine, Journal และ Periodical มีความหมายแตกต่างกันตามลักษณะเนื้อหาที่นำเสนอ Magazine หรือเรียกว่า “นิตยสาร” มักจะเน้นเนื้อหาทางด้านบันเทิงคดี Journal หรือเรียกว่า “วารสาร” จะเน้นเนื้อหาทางวิชาการ ส่วนคำว่า Periodical หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นวาระ มีความหมายรวมทั้ง Magazine และ Journal เช่นเดียวกับคำว่า “วารสาร” ในภาษาไทยที่มีความหมายรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกเป็นวาระ มีความหมายรวมทั้งนิตยสารและวารสารวารสารเป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกตามกำหนดระยะเวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ (สองสัปดาห์) หรือรายเดือน ให้สารสนเทศในรูปแบบ “บทความ” จากผู้แต่งหลายคน เนื้อหาสาระอาจเป็นเรื่องในสาขาวิชาเดียวกัน หรือรวมเรื่อง ซึ่งอาจแบ่งประเภทวารสารตามลักษณะเนื้อหาเป็น 3 ประเภท คือ
2.1 วารสารวิชาการ (journals or periodicals) เช่น ราชภัฏกรุงเก่า/ จุฬาลงกรณ์รีวิว/ วารสารวิจัย/ วารสารราชบัณฑิตยสถาน/ พัฒนาชุมชน/ วารสารกฎหมายเพื่อชีวิต/ Journal of Science, Technology and Humanities/ Journal of Teacher Education / Educational Research/ ASEAN Journal on Science เป็นต้น
2.2 วารสารทั่วไปหรือนิตยสาร (magazine) เช่น เที่ยวรอบโลก / สารคดี/ สมุนไพรเพื่อชีวิต/ รักลูก/ สกุลไทย/ หญิงไทย/ สร้างเงินสร้างงาน/ สานแสงอรุณ/ ไฮ-คลาส/ ต่วย’ตูนพิเศษ/ National Geographic/ Discover/ Reader’s Digest เป็นต้น
2.3 วารสารข่าวหรือวิจารณ์ข่าว (news magazine) เช่น มติชนสุดสัปดาห์/ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์/ เอกสารข่าวรัฐสภา/ Time/ Newsweek/ AsiaNews
3. หนังสือพิมพ์หนังสือพิมพ์ (newspaper) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกตามระยะเวลาที่กำหนด อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายปักษ์ แต่ส่วนใหญ่จะพิมพ์เผยแพร่เป็นรายวันประเภทของหนังสือพิมพ์อาจจัดแยกตามลักษณะการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 2 ประเภทคือ หนังสือพิมพ์ปริมาณ และหนังสือพิมพ์คุณภาพหนังสือพิมพ์ปริมาณจะเน้นการเสนอเนื้อหาและวิธีการเขียนที่เร้าอารมณ์ ชวนอ่าน ข่าวส่วนใหญ่จะเป็น “ข่าวอ่อน” (soft news) เช่น ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวสังคม ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา เป็นต้นหนังสือพิมพ์คุณภาพจะเน้นเสนอเนื้อหาที่ให้รายละเอียดตามข้อเท็จจริง วิธีการเขียนจะไม่เร้าอารมณ์เหมือนหนังสือพิมพ์ปริมาณ ข่าวส่วนใหญ่จะเป็น “ข่าวแข็ง” (hard news) เช่น ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศ ข่าวการศึกษา ข่าวศิลปะวัฒนธรรม เป็นต้นหนังสือพิมพ์บางประเภทนำเสนอข่าวเฉพาะเรื่องเช่นข่าวธุรกิจ ได้แก่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ ข่าวพาณิชย์ ฯลฯ หรือเสนอเฉพาะข่าวกีฬาได้แก่ โลกกีฬา สยามกีฬา ฯลฯ หรือเสนอข่าวการศึกษาและการจัดหางานได้แก่ วัฏจักรการศึกษา แรงงานไทย ตลาดแรงงานตลาดบันเทิง ฯลฯ ซึ่งหนังสือพิมพ์เฉพาะเรื่องจะออกเป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายวันหนังสือพิมพ์และวารสารแตกต่างกันที่วิธีการนำเสนอเนื้อหา วารสารจะนำเสนอเรื่องราวสาระในรูปบทความเช่น บทความทางวิชาการ หรือสารคดี และหากเป็นวารสารข่าวจะนำเสนอในลักษณะการนำข่าวที่เกิดขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนหนังสือพิมพ์จะนำเสนอข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสด ๆ ในชีวิตประจำวัน
4. จุลสารจุลสาร (pamphlets) คือสิ่งพิมพ์ที่มีขนาดเล็ก ปกอ่อน ความหนาอยู่ระหว่าง 2 – 60 หน้า เป็นสิ่งพิมพ์ที่หน่วยงานราชการ องค์การ บริษัท ห้างร้าน สถาบัน สมาคมและหน่วยงานต่าง ๆ จัดพิมพ์เผยแพร่เรื่องราว ความรู้สั้น ๆ เนื้อหาทันสมัย อ่านเข้าใจง่าย แม้จะให้รายละเอียดไม่มากนัก แต่ใช้สำหรับค้นคว้าเพิ่มเติมและอ้างอิงได้
5. กฤตภาคกฤตภาค (clipping) เป็นวัสดุตีพิมพ์ที่เกิดจากการเลือกและจัดเก็บ บทความที่น่าสนใจจากหนังสือพิมพ์หรือวารสารฉบับล่วงเวลา ซึ่งอาจเป็นข่าว บทความวิชาการหรือรูปภาพ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาหาความรู้
6. สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษสิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษ หมายถึงสิ่งพิมพ์ที่มีความพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งพิมพ์ทั่วไป ทางด้านลักษณะรูปทรง วัสดุที่ใช้ในการบันทึก และการนำเสนอเนื้อหาสารสนเทศในลักษณะพิเศษเฉพาะเจาะจง สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษที่จัดให้บริการในห้องสมุดและสถาบันบริการสารสนเทศ ได้แก่
6.1 เอกสารสิทธิบัตร (patents) ให้สารสนเทศเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยรายละเอียด 3 ส่วน คือรายละเอียดทางบรรณานุกรม การประดิษฐ์ และรายละเอียดการขอถือสิทธิตัวอย่างเอกสารสิทธิบัตรแสดงในรูปภาพที่ขอบเขตสาระสำคัญในเอกสารสิทธิบัตรแต่ละฉบับ จะให้ความรู้ไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดเช่น เอกสารสิทธิบัตรเรื่องเครื่องพิมพ์ดีด ในเอกสารสิทธิบัตรฉบับหนึ่งจะกล่าวถึงกลไกการป้อนกระดาษ อีกฉบับหนึ่งจะบรรยายเฉพาะกลไกการบังคับการหมุนของผ้าหมึก ดังนั้น ถ้าจะสร้างเครื่องพิมพ์ดีด ก็จะต้องศึกษาวิธีการทำเครื่องบังคับกลไกต่าง ๆ ของเครื่องพิมพ์ดีดในเอกสารสิทธิบัตรหลายฉบับแหล่งบริการเอกสารสิทธิบัตรติดต่อขอใช้บริการได้ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี และสำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือที่เว็บไซต์ http://siweb.dss.go.th/patent
6.2 เอกสารมาตรฐาน (Standards) เป็นเอกสารที่ระบุข้อกำหนดหรือเกณฑ์ที่ใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคุณภาพ ความเหมาะสม ความปลอดภัย หรือคุณค่าของสิ่งของ เครื่องมือ และวิธีการปฏิบัติ ที่เป็นมาตรฐาน เอกสารประเภทนี้สามารถนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการกำหนดระเบียบ คู่มือ หรือใช้เป็นข้อบังคับในทางกฎหมายได้ เอกสารมาตรฐานประกอบด้วยสารสนเทศ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเนื้อหามาตรฐานและส่วนข้อมูลเพิ่มเติมส่วนเนื้อหามาตรฐานประกอบด้วย บทนิยาม ลัญลักษณ์และตัวย่อ คุณลักษณะที่ต้องการ (requirements) การชักตัวอย่าง (sampling) วิธีทดสอบ (test methods) การแบ่งประเภท(classification) การเรียกชื่อขนาด(designation) การทำเครื่องหมาย ฉลาก การบรรจุหีบห่อ ผนวกของเนื้อหามาตรฐานแหล่งบริการเอกสารมาตรฐานได้แก่ องค์การค้าระหว่างประเทศ เช่น ไอเอสโอ (International Organization for Standardization – ISO) องค์การมาตรฐานภูมิภาค เช่น มาตรฐานยุโรป หรือ อีเอ็น (Europaische Norm – EN) สำหรับเอกสารมาตรฐานของไทยติดต่อขอใช้บริการได้ที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม หรือที่เว็บไซต์ http://library.tisi.go.th/T/fulltext/TIS/by_title/P1.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น